fbpx

ยุคใหม่ของ "บริติช คอร์"

ยุคใหม่ของ “บริติช คอร์”

ยุคใหม่ของ

การที่ อาร์แซน เวนเกอร์ ถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดกุนซือของ อาร์เซนอล และพรีเมียร์ลีก นอกจากความสำเร็จมากมาย รวมถึง “ดิ อินวินซิเบิ้ลส์” แชมป์ไร้พ่ายที่เป็นตำนาน การเปลี่ยนแปลงสไตล์การเล่นของทีม “ปืนใหญ่” ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ขงเบ้งจากแดนน้ำหอมได้รับคำชมอย่างมาก จาก “บอร์ริ่งอาร์เซนอล” ฟุตบอลอังกฤษ โบราณที่เน้นสาดโด่งดูน่าเบื่อ กลายเป็น “บิวตี้ฟูลฟุตบอล” ที่เน้นภาคพื้นดิน ต่อบอล ทำชิ่ง จังหวะเข้าทำหลากหลายน่าตื่น ตาตื่นใจ ทว่าทุกความสำเร็จมักต้องมีการเสียสละอยู่เสมอ “เดอะ กันเนอร์ส” คือทีมเก่าทีมแก่ที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม มีความคลั่งชาติค่อนข้างสูง นักเตะในทีมชุดแรกที่ เวนเกอร์ เข้ามากุมบังเหียน ยังมีแข้งอังกฤษ เป็นตัวหลักถึง 9 คน ทว่าหลังจากนั้นทุกอย่างถูกเล่นแร่แปรธาตุ นักเตะต่างชาติถูกดึงมากลืนกินอาชีพของนักเตะท้องถิ่น อาร์เซนอล กลายเป็นทีมแรกในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ส่ง 11 ตัวจริงโดยไม่มีแข้งเลือดผู้ดีแม้แต่คนเดียวในเกมเจอ คริสตัล พาเลซ เมื่อปี 2005 

ยุคใหม่ของ

“ปืนใหญ่” ถูกสื่อวิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนักและต่อเนื่อง ความล้มเหลวของทีมชาติอังกฤษ ที่ตกรอบคัดเลือก ยูโร 2008 ก็โดน FA โยนขี้ให้เป็นความผิดจากนโยบายแข้งต่างชาติของ เวนเกอร์ ที่โดนตราหน้าว่าเป็นตัวบ่อนทำลายวงการฟุตบอลอังกฤษ เชื่อว่าเรื่องนี้อาจเป็นเศษเสี้ยวแผลในใจ บวกกับการเป็นหนี้ระยะยาวจากการสร้างสนามใหม่ ทำให้ อาร์เซนอล อยู่ในสถานการณ์ต้อง “รัดเข็มขัด” งบเสริมทัพถูกตัดทอน แถมยังต้องขายสตาร์เพื่อประคองการเงินอย่างต่อเนื่อง เมื่อหมดยุคของ เชส ฟาเบรกาส บวกกับต้องเสีย โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ สตาร์เบอร์ 1 ให้กับคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ในปี 2012 เวนเกอร์ ได้ปรับโครงสร้างเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ของสโมสรด้วยนโยบาย “บริติช คอร์”

ยุคใหม่ของ

เวนเกอร์ จัดการต่อสัญญา 5 หนุ่มสายเลือดบริติช อันประกอบไปด้วย แจ็ค วิลเชียร์, คีแรน กิ๊บบ์ส, อเล็กซ์ อ็อกซ์เลด แชมเบอร์เลน, คาร์ล เจนกินสัน และ อารอน แรมซีย์ เพื่อหวังเป็นแกนหลักของทีมในระยะยาว “ผมเชื่อว่าเมื่อคุณมีแกนหลักเป็นนักเตะบริติช มันง่ายขึ้นเสมอในการรั้งพวกเขาเอาไว้ด้วยกัน” เวนเกอร์ กล่าวในวันนั้น อย่างไรก็ตามเมื่อกาลเวลาผ่านไป โปรเจ็กต์กลับล้มเหลวไม่เป็นทาง 5 นักเตะดังกล่าวไม่อาจเป็นแกนหลักที่พาทีมประสบความสำเร็จได้ แถมเส้นทางในฟุตบอลอาชีพ ณ ปัจจุบันต้องบอกว่าถอยหลังลงคลองกันแทบทุกคน อารอน แรมซี่ย์ ดีสุดได้โกอินเตอร์ไปเล่นใน เซเรีย อา แต่ก็แทบไม่ได้ลงสนามเลยให้กับ ยูเวนตุส ในฤดูกาลนี้ อเล็กซ์ อ็อกซ์เลด แชมเบอร์เลน อยู่ทีมใหญ่อย่าง ลิเวอร์พูล แต่สภาพไม่ต่างกันอยู่แต่ข้างสนามเป็นหลัก

ยุคใหม่ของ

ธีโอ วัลค็อตต์ ถอยไปเล่นให้กับทีมระดับกลางของพรีเมียร์ลีก คีแรน กิ๊บบ์ส และ คาร์ล เจนกินสัน ก็เล่นอยู่แค่ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ แจ็ค วิลเชียร์ ดาวรุ่งที่ดีที่สุดในรุ่นทุกวันนี้ยังไม่มีสโมสรไหนรับเลี้ยงเลย กลับเข้าสู่โลกปัจจุบันไม่มีใครคาดคิดว่า อาร์เซนอล ที่ออกสตาร์ตแพ้รวด 3 นัดแรกของฤดูกาล กระแสขับไล่ มิเกล อาร์เตต้า ลุกโชนอย่างกับไฟลามทุ่ง อยู่ดีๆ พวกเขาก็ไม่แพ้ใครมา 10 นัดติดต่อกันในทุกรายการ (ชนะถึง 8 นัด) จากจมบ๊วยอันดับ 20 ตอนนี้พุ่งพรวดขึ้นมาอยู่อันดับ 5 มีแต้มตามหลัง แมนฯ ซิตี้ ที่เคยถล่มพวกเขา 5-0 อยู่เพียง 3 แต้ม และห่างจากจ่าฝูง เชลซี แค่ 6 คะแนนเท่านั้น จากเสียงด่าในวันวาน กลายเป็นเสียงเยินยอในวันนี้ โดยเฉพาะแก๊ง “บริติช คอร์ 2”

ยุคใหม่ของ

อารอน แรมส์เดล นายทวารที่ถูกตั้งคำถามมากมาย พิสูจน์ตัวเองจนกลายเป็นขวัญใจคนใหม่ของ “เดอะ กันเนอร์ส” นับตั้งแต่ลงเกมแรกที่ชนะ นอริช 1-0 เจ้าตัวยังรักษาสถิติไร้พ่ายได้อย่างเหนียวแน่น แถมเก็บคลีนชีตได้ถึง 5 เกม ลีลาการเล่นที่มี “แพสชั่น” อย่างเต็มเปี่ยม ช็อตการเซฟที่ต้องร้องว้าว ถ้ารักษามาตรฐานได้ต่อเนื่องนี่คือว่าที่มือหนึ่งทีมชาติอังกฤษ อย่างแน่นอน ในเมื่อคู่แข่งของเขาคือ จอร์แดน พิคฟอร์ด กับ แซม จอห์นสโตน ไม่ใช่โจทย์ที่ยากเลย เบน ไวท์ กองหลังค่าตัว 50 ล้านปอนด์ อาจเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก แต่ก็ยังพอมีข้อแก้ตัวให้ได้บ้าง ทั้งความฟิตที่เพิ่งกลับมาจากทัวร์ใหญ่ระดับทีมชาติ รวมถึงการต้องใช้เวลาในการปรับตัวเข้ากับทีมใหม่ที่มีแรงกดดันสูงกว่าทีมเก่า ไบรท์ตัน อยู่พอสมควร

ยุคใหม่ของ

เมื่อทุกอย่างลงตัว ได้จับคู่กับ กาเบรียล มากัลเญส ที่มีความคล่องตัวสูง มี ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ แบ็กขวาที่เล่นเกมรับดี รับมือลูกโด่งได้เยี่ยม ทุกอย่างก็ช่วยเสริมให้ อาร์เซนอล พลิกวิกฤติเป็นโอกาสกลายเป็นทีมมีเกมรับเป็น “จุดเด่น” ไปแล้ว ฟอร์มส่วนตัวของ ไวท์ ก็เข้าตากรรมการมากขึ้น เกมรับอ่านจังหวะได้ดี ชิงเหลี่ยมตัดบอลได้บ่อย จังหวะบล็อกลูกยิงก็ทำได้อย่างน่าพอใจ ส่วนเกมรุกการจ่ายบอลก็ดูมีวิชั่น และที่สำคัญสกิลการเลี้ยงสมคำร่ำลือชนิดที่กองกลางบางคนยังต้องอาย 2 ตัวรุกอย่าง สมิธ โรว์ กับ ซาก้า คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก เกมรุกตัว U ของ อาร์เซนอล ที่โดนบ่นยับ พอ อาร์เตต้า กล้าดร็อป นิโคลัส เปเป้ (ตัวทำบอลเสีย) และให้ บูคาโย่ เป็นตัวจริงปีกขวาแทน รูปแบบก็ไหลลื่นราวกับเป็นคนละทีม

ยุคใหม่ของ

เช่นเดียวกับ เอมิล ที่เวลาเล่นเพลย์เกมเกอร์อาจไม่เปรี้ยงมากนัก เพราะอุปนิสัยเจ้าตัวชอบฉีกไปรับบอลริมเส้นบ่อยครั้ง พอโดนจับมาเล่นปีกซ้ายแบบเป็นเรื่องเป็นราว ก็กลายเป็นลงล็อกระเบิดฟอร์มเทพยิงไปแล้ว 4 ประตูกับอีก 2 แอสซิสต์ จากการประกาศรายชื่อทีมชาติอังกฤษ ที่จะลงเล่นฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก 2 เกมนัดสุดท้าย อาจจะมีชื่อแค่ แรมส์เดล กับ ซาก้า แต่เชื่อเหลือเกินว่าถ้า ไวท์ กับ สมิธ โรว์ ก็คงมีชื่อในเร็วๆ นี้ เปรียบเทียบ “บริติช คอร์” ทั้ง 2 ชุดต้องบอกว่าต่างกันอยู่พอสมควร เซ็ตแรกในยุค เวนเกอร์ เสมือนการ “เสี่ยงโชค” เพราะ อังกฤษ ในเวลานั้นมีปัญหาเรื่องการผลิตนักเตะฝีเท้าดี แถมโครงสร้างอะคาเดมี่ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก

 

ยุคใหม่ของ

แต่ในปัจจุบัน “สิงโตคำราม” ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งชาติที่มีแข้งสายเลือดใหม่ที่น่าติดตามจำนวนมาก หลายคนทำผลงานดีตั้งแต่อายุยังน้อย ก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักของทีม ได้เล่นในทัวร์ใหญ่ทั้งระดับสโมสรและทีมชาติกันอย่างคึกคัก

พูดง่ายๆ นี่คือ โกลเด้น เจเนเรชั่น ของวงการฟุตบอลผู้ดีเลยก็ว่าได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องรวม “บริติช คอร์ 2” ของ “ปืนใหญ่” ด้วย

คอนเทนต์เพิ่มเติม :: ข่าวบอล