การเข้ามารับเผือกร้อนต่อจาก แฟรงค์ แลมพาร์ด เอาจริงๆ แฟนบอลหลายคนไม่ได้คาดหวังอะไรจากตัว โธมัส ทูเคิ่ล มากมายนัก เอาแค่สัญญาที่เจ้าตัวได้รับยังเป็นเพียงเงื่อนไขระยะสั้น 18 เดือนเท่านั้น
ทว่าทำไปทำมาอดีตกุนซือของ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง พาทีมทำผลงานได้ดีเกินคาด ตอนนี้ 14 เกมนับรวมทุกรายการไม่มีแพ้ใคร ทีมคัมแบ็กสู่ตำแหน่งท็อปโฟร์ แถมบอลถ้วยก็ฉลุยทั้ง แชมเปี้ยนส์ลีก (8 ทีม) และ เอฟเอ คัพ (รองรองฯ)
งานนี้เรามาลองวิเคราะห์กันดูดีกว่าว่า เชลซี ในยุคของกุนซือเลือดด๊อยซ์ลันด์ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยขอแบ่งเป็น 5 หัวข้อให้เห็นภาพง่ายๆ ดังนี้
ใครคิดเหมือน…คิดต่างยังไง เสนอมุมมองของท่านมาได้เลย
1.แก้เกมรับด้วยระบบหลังสาม
เชลซี ในยุคของ แฟรงค์ แลมพาร์ด เกมรับค่อนข้างมีปัญหาพอสมควร หลังพวกเขาเสียไปถึง 23 ประตูนับเฉพาะ 19 เกมในพรีเมียร์ลีก เรียกว่าอัตราเฉลี่ยสูงกว่า 1 ประตูต่อนัดเลยด้วยซ้ำ
แต่พอเปลี่ยนนายใหญ่มาเป็น ทูเคิ่ล ทุกอย่าง “พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ” เชลซี กลายเป็นทีมที่มีเกมรับดีมากๆ 14 เกมไร้พ่าย คลีนชีต 12 นัด เสียแค่ 2 ประตู ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นการยิงประตูตัวเองเสียด้วย
ทูเคิ่ล เอาโมเดลกองหลัง 3 คนของ อันโตนิโอ คอนเต้ มาปรับใช้อย่างลงตัว นักเตะหลายคนเคยคุ้นชินสมัยทำงานกับกุนซือชาวอิตาเลี่ยนมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากในการปรับตัว ขนาดเสาหลักอย่าง ติอาโก้ ซิลวา เจ็บไป คนอื่นก็สามารถแทนที่ได้เป็นอย่างดี
2.ให้บทบาทแดนกลางที่ชัดเจน
บทความของ อีเอสพีเอ็น https://es.pn/3c8rNKT เปิดเผยว่าเมื่อกุนซือวัย 47 ปีเข้ามารับงานคุม สิงห์บลูส์ สิ่งแรกที่เขาทำคือการพา จอร์จินโญ่, มาเตโอ โควาซิซ และ เอ็นโกโล่ ก็องเต้ ไปคุยนอกรอบ โดยยืนยันว่าเขาต้องการให้ทั้ง 3 คนเป็นผู้นำในทีม
ทูเคิ่ล พูดชัดเจนว่าจะหมุนเวียนพวกเขา 3 คนในตำแหน่งกองกลาง ขึ้นอยู่กับแท็คติก, ความฟิต และคู่ต่อสู้ว่าเป็นใครในแต่ละเกม ซึ่งผลงานที่ผ่านมาก็ค่อนข้างชัดเจน ทั้ง 3 คนเล่นได้ดี และถูกโรเตชั่นใช้งานอย่างเหมาะสมถ้านับถึงเวลานี้
อดีตกุนซือของ ดอร์ทมุนด์ ให้บทบาทที่ชัดเจนกับผู้เล่นทุกคน เมสัน เมาท์ และ ไค ฮาแวร์ตซ์ ที่ในยุค แลมพาร์ด เคยถูกจับมาเล่นมิดฟิลด์ตัวกลางในบางนัด ตอนนี้ต้องแย่งตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรุกเท่านั้นหากจะได้ลงสนาม
เกมของ สิงห์บลูส์ ตอนนี้ถือว่านิ่งมากๆ กองกลางคุมเกมได้ดี วัดจากสถิติการครองบอลเฉลี่ยที่สูงถึง 60% ต่อนัด มีเกมเจอ ลิเวอร์พูล นัดเดียวเท่านั้นที่พวกเขาครองบอลเป็นรองใน 14 เกมที่ผ่านมา
3.กล้าให้โอกาสแข้งส่วนเกินยุคแลมพ์
อีกประเด็นที่ ทูเคิ่ล ได้รับคำชมอย่างมากจากแฟนบอล เชลซี คือการปัดฝุ่นให้โอกาสกับนักเตะส่วนเกินในยุคของ แลมพาร์ด ซึ่งตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนคือ อันโตนิโอ รูดิเกอร์ และ มาร์กอส อลอนโซ่
รูดิเกอร์ ที่ได้ลงเล่นเพียง 4 เกมในพรีเมียร์ลีกจาก 19 เกมแรก กลับมายึดเป็นตัวจริงที่พลาดลงสนามเพียงเกมเดียวจาก 12 นัดที่ผ่านมา การพูดภาษาเดียวกับโค้ช การสื่อสารที่ง่าย น่าจะเป็นปัจจัยหลักของเรื่องนี้
ขณะที่ระบบหลัง 3 กลายเป็นกำเนิดใหม่ให้กับ อลอนโซ่ ที่เกมรับแย่ แต่เกมรุกเยี่ยม ถ้าเป็นระบบวิงแบ็กแฟนบอล สิงห์บลูส์ ก็เข้าใจดีว่าดาวเตะสแปนิช ดูจะเหมาะสมกว่า แม้ เบน ชิลเวลล์ มาตรฐานจะทำได้ยอดเยี่ยมก็ตาม
4.ประยุกต์อะไหล่ในทีมได้ดี
การเข้ามารับตำแหน่งของ ทูเคิ่ล เรียกว่าจวนตัวมากๆ ตอบตกลงวันเดียว รุ่งขึ้นต้องพาทีมเปิดบ้านรับมือกับ วูล์ฟแฮมป์ตัน ทันที และมีเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้นในตลาดซื้อขายนักเตะ ซึ่งมันไม่มากพอที่จะให้เขาเรียนรู้ว่าควรจะเสริมใครบ้าง
ดังนั้นการปรับใช้นักเตะเท่าที่มีคือการบ้านหลัก ซึ่งกุนซือวัย 47 ปีก็ทำได้ดีด้วย เซซาร์ อัซปิลิกวยต้า ในวัย 31 ปีกลายเป็นบ่อถ้าเล่นแบ็กขวา ก็ถูกโยกมาเป็นเซนเตอร์ฮาล์ฟตัวขวา ซึ่งฟอร์มนาทีนี้เรียกว่าทีมขาดไม่ได้เลย
พอขยับ อัซปิลิกวยต้า ไปเป็นเซนเตอร์ฮาล์ฟ ทำให้วิงแบ็กขวาเหลือตัวเลือกเดียวคือ รีช เจมส์ ซึ่งอดีตกุนซือของ ปารีสฯ ก็ทำเรื่องเซอร์ไพรส์ด้วยการโยก คัลลั่ม ฮัดสัน โอดอย จากปีกตัวรุกมาทดสอบดู ซึ่งผลงานที่ผ่านมาก็ถือว่าสอบผ่านทีเดียว
5.เกมรุกยังไม่เปรี้ยงเท่าไร
แม้จะพาทีมทำผลงานได้ดี แก้ปัญหาเกมรับจนกลายเป็นจุดเด่นของทีม แต่ก็ใช่ว่า ทูเคิ่ล จะราบรื่นไปซะทุกอย่าง เกมรุกของทีมนาทีนี้แม้จะยิงชนะได้อยู่ แต่ถ้าเทียบจริงๆ ก็ห่างไกลกับคำว่าพีกอยู่มากโข
14 เกมภายใต้กุนซือชาวเยอรมัน เชลซี ยังไม่เคยยิงเกินนัดละ 2 ประตูเลย แนวรุกจนถึงนาทีนี้ยังหมุนเวียนไปเรื่อย เหมือนเป็นการลองแผน เอาคนนั้น ผสมคนนี้ และยังหาชุดที่ลงตัวที่สุดไม่ได้
ติโม แวร์เนอร์ ก็ยังปืนฝืด แทมมี่ อับราฮัม ก็มาเจ็บ ทำให้หน้าเป้าวนอยู่ที่ ฮาแวร์ตซ์ กับ ชิรูด์ ซึ่งก็ยัง 3 วันดี 4 วันไข้ ตำแหน่งเพลย์เมกเกอร์ที่เป็นตัวหลักก็มีแค่ เมสัน เมาท์ ส่วน ฮาคิม ซิเย็ค กับ คริสเตียน พูลิซิซ ดูยังต้องจูนอีกพอสมควร