เงินนำพา : ซาอุฯ โปรลีก ดินแดนร่วมสตาร์แห่งใหม่
เงินนำพา : ซาอุฯ โปรลีก ดินแดนร่วมสตาร์แห่งใหม่
ทุกวันนี้ข่าวตลาดซื้อ-ขาย นักเตะในโลกโซเชียล กว่าครึ่งคือประเด็นที่เกี่ยวโยงไปถึง ซาอุฯ โปรลีก ที่พวกเขากำลังทำเมกะโปรเจกต์ใหญ่ในการดึงแข้งระดับโลกไปรวมอยู่ในลีกเดียวเหมือนเทรนด์โลกของลูกหนังกำลังจะหมุนเวียนเปลี่ยนอีกครั้ง สำคัญเลยคือเม็ดเงินที่สโมสรต่างๆ ควักกระเป๋าจ่ายออกไป กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ ซาอุฯ เป็นแหล่งศูนย์รวมนักเตะดังในตอนนี้
ตั้งแต่ได้ โรนัลโด้ ไปลีกซาอุเริ่มเป็นที่จับตามอง
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการที่ อัล นาสเซอร์ ดึงตัว คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ไปร่วมทีมสามารถสร้างอิมแพ็คให้ลีกได้ไม่น้อย จากตอนแรกที่ไม่มีใครสนใจ แม้จะมีแข้งชื่อดังอย่าง หลุยส์ กุสตาโว่, ดาบิด โอปิน่า หรือ ทาลิสก้า ค้าแข้งอยู่ แต่พอเป็น โรนัลโด้ มูลค่าของลีกก็ยกระดับขึ้นทันตาเห็น โฟกัสง่ายๆ คือเรื่องของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่หลายประเทศติดต่อเพื่อนำมาฉายให้แฟนบอลได้รับชมกัน แน่นอนว่าในมุมนั้นเหล่าสโมสรต่างๆ ที่ไม่เพียง อัล นาสเซอร์ ก็ได้ผลพลอยได้ไปด้วย แถมด้วยความที่เจ้าของแต่ละสโมสรแทบจะเป็นฝั่งเดียวกัน ทำให้ซัมเมอร์นี้ทวีคูณความคึกคักไปมากกว่าเดิม
นักเตะเริ่มมองเห็นเม็ดเงินมหาสารในลีกซาอุ
ปัจจุบันที่คอนเฟิร์มแน่นอนแล้วคือ คาริม เบนเซม่า ที่ย้ายไปร่วมทัพ อัล อิตติฮัด ตามมาติดๆ ด้วย เอ็นโกโล่ ก็องเต้ ที่ปิดดีลพร้อมทุ่มค่าเหนื่อยมหาศาล ตัวเลขค่าเหนื่อย 30 ล้านยูโรต่อปี กับนักเตะที่วัย 30 บวก ถือว่าเป็นการโกยที่คุ้มค่าในช่วงปลายอาชีพค้าแข้ง นอกจากนั้นยังมีรายอื่นๆ ที่กำลังตกเป็นข่าวว่ากำลังจะปิดดีล และเปิดตัวในเร็วๆ นี้ อย่าง รูเบน เนเวส ที่กำลังจะไป อัล ฮิลาล ด้วยค่าตัว 55 ล้านยูโร ทั้งที่ด้วยอายุที่เพิ่ง 26 ปี มีข่าวเชื่อมโยงกับทีมในยุโรปไม่ว่าจะเป็น แมนฯ ยูไนเต็ด หรือ บาร์เซโลน่า กลายเป็นว่ากองกลางโปรตุเกสเลือกย้ายออกไปโกยเงินในแดนน้ำมัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดทุกคนย่อมต้องประกอบอาชีพเพื่อปากท้อง เพียงแต่ว่าปิดคาดจากที่แฟนบอลตั้งความคาดหวังเอาไว้ เช่นเดียวกับก๊วนแข้ง เชลซี ที่กำลังตบเท้าพาเหรดไปสมทบอีกชุด ฮาคิม ซีเย็ค กับ อัล นาสเซอร์, เอดูอาร์ เมนดี้ กับ อัล อาห์ลี และ คาลิดู คูลิบาลี่ กับ อัล ฮิลาล
แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ตอบปฎิเสธไป
ทั้งนี้ก็มีอีกหลายคนที่เลือกปฏิเสธลีก ซาอุฯ เพราะจุดหมายที่ต่างกันออกไป อย่างในเคสของ ลิโอเนล เมสซี่ ทางฝั่ง อัล ฮิลาล พร้อมประเคนค่าเหนื่อยให้สูงเป็นสถิติของวงการลูกหนัง ทว่าสุดท้ายซูป’ตาร์ อาร์เจนติน่า ไม่คล้อยตามด้วย ซึ่งว่ากันว่าสาเหตุหลักๆ คือเรื่องของครอบครัวที่ภรรยาของ เมสซี่ ไม่อยากย้ายไป ซาอุฯ และอีกอย่างปัจจัยเรื่องเงินไม่ใช่สิ่งแรกที่ดาวเตะรายนี้มองเพียงอย่างเดียวเฉกเช่นเดียวกับในเคสของ ซน ฮึง-มิน สตาร์จาก ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ก็เป็นหนึ่งในลิสต์ที่ อัล ฮิติฮัด จ้องมอง แต่ “ตี๋ซน” ชัดเจนว่าต้องการค้าแข้งในอังกฤษต่อไป เพราะภารกิจในใจยังไม่อาจบรรลุได้ แน่นอนว่าที่กล่าวมามีทั้งนักเตะที่สนใจย้ายมาหาความท้าทายใหม่ และอีกฝั่งที่เจตนายังคงชัดเจนปฎิเสธกลับไป เพราะต้องการอยู่ในลีกระดับสูงของยุโรป
เรื่องเงินคือสิ่งล่อตาล่อใจ
ว่ากันตามตรงแบบไม่ต้องโลกสวยปัจจัยเรื่องเงินคือสิ่งล่อตาล่อใจนักเตะฟุตบอลได้เป็นอย่างดี ค่าเหนื่อยตกเป็นละ 200 ล้านยูโร มีหรือที่จะไม่เอา และยิ่งกับนักเตะที่แตะอายุเลข 3 พอสมควร นี่คือโอกาสอันดีของพวกเขาในการโกยสตางค์ให้มากที่สุดซึ่งเรื่องแบบนี้ต่างฝ่ายต่าง “วิน” นักเตะได้ค่าจ้างมากขึ้น และสโมสรได้เพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง ไม่มีใครเสียหายกับดีลต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทว่าเรื่องที่น่ากังวลก็ยังมีคือระยะยาว ซาอุฯ โปรลีก จะเป็นอย่างไร ?
ลีกจีนเคยเป็นเคสตัวอย่างมาก่อน
เพราะกรณีศึกษาก่อนหน้านี้มีให้เห็นแล้วกับ ไชนีส ซูปเปอร์ลีก ของ จีน ที่เคยทุ่มงบประมาณคล้ายๆ ลักษณะนี้ ก่อนพังพินาศไม่เป็นท่า ย้อนกลับไปตอนที่ลีกจีนบูมแบบสุดๆ พวกเขาทุ่มเงินมหาศาลในการคว้านักเตะดังมารวมอยู่กันในลีกไม่ว่าจะเป็น ออสการ์, ฮัลค์, รามิเรส, เอเซเกล ลาเวซซี่, เปาลินโญ่, ดิดิเยร์ ดร็อกบา หรือ คาร์ลอส เตเบซ ครั้งหนึ่ง เตเบซ ได้ออกมากล่าวถึงการเล่นลีกจีนว่า “มันค่อนข้างสบายทีเดียว เพราะเหมือนผมไปพักร้อนเป็นเวลา 7 เดือน” ตอนนั้น ไชนีส ซูปเปอร์ลีก ได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่จากรัฐบาล จากเดิมที่เหล่าสโมสรมีสถานะเป็นกึ่งรัฐกึ่งเอกชน แต่พอได้รัฐบาลเข้ามาหนุนหลังเพิ่มทำให้มีเม็ดเงินลงทุนที่สูงมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดด้วยเงิน 8 พันล้านหยวน กลายเป็นช่วงขาขึ้นของฟุตบอลแดนมังกรอย่างแท้จริง
ไปไม่รอดก็เละไม่เป็นท่า
ทว่าเวลาผ่านไปวิสัยทัศน์ที่ได้วางเอาไว้มันไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้น แถมจากเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาผู้เล่นในประเทศควบคู่กันนั้นสอบตกเป็นอย่างมาก ทีมชาติจีน ไม่มีอะไรจับต้องได้ ก่อนเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเรื่องงบประมาณ และเริ่มตัดเงิน ตัดโฆษณาที่แต่ก่อนเคยมีในชื่อทีมออกไป ก่อนที่ในตอนนี้เราจะได้เห็นปัญหาของ ไชนีส ซูปเปอร์ลีก มากมายเต็มไปหมด และเหมือนต้องกลับไปเริ่มวางไข่กันใหม่อีกครั้ง
ลีกซาอุจะยืนระยะได้ยาวหรือไม่?
กับคำถามที่ว่า ซาอุฯ จะเป็นแบบ จีน ไหม ? ในตอนนี้ไม่อาจตอบได้ แต่ความแตกต่างคือเรื่องเม็ดเงินที่ ซาอุฯ สามารถใช้บริหารได้อย่างคล่องมือ และรัฐบาลไม่ได้เข้ามาเอี่ยวด้วยโดยตรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในระยะยาวต้องมาดูกันอีกครั้งว่าลีกจะพัฒนา และต่อยอดจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในมือได้มากขนาดไหน ทางฝั่ง อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ในฐานะประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นการซื้อนักเตะของ ซาอุฯ โปรลีก ไว้ได้น่าสนใจว่า “ผมคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดของฟุตบอลซาอุดิอาราเบีย ทำไมมันถึงเป็นปัญหาสำหรับพวกเขา เพราะพวกเขาควรลงทุนในอะคาเดมี พวกเขาควรจ้างโค้ชมา และพวกเขาควรพัฒนานักเตะของตัวเอง” แน่นอนจุดนี้เราสามารถมองต่างมุมกันออกไปได้ แต่ที่กำลังจะเปลี่ยนไปคือเทรนด์ลูกหนัง ซาอุฯ กำลังจะเป็นดินแดนแห่งใหม่ของนักฟุตบอลที่ไม่ใช่เพียงของนักเตะวัยใกล้เกษียณ แต่สามารถดึงดาวรุ่ง หรือช่วงวัยพีคมาโลดแล่นได้เช่นกัน
คอนเทนต์เพิ่มเติม :: ฟุตบอลคอนเทนต์
ติดตามผลบอลสดเพิ่มเติม :: liverscore888th
ติดตามบทวิเคราะห์บอลเพิ่มเติม :: วิเคราะห์บอลวันนี้